AIRA Capital Public Company Limited
จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์

บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)


1. หลักการพื้นฐาน
           บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) จัดทำจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางหรือกรอบในการปฏิบัติหน้าที่ของนักลงทุนสัมพันธ์ ในกรณีที่มีปัญหาหรือประเด็นที่ยากต่อการตัดสินใจ ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับคู่มือจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ 2557 และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ ประกอบไปด้วยหลักการพื้นฐาน4 ประการ ได้แก่
      1) ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน อย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา
      2) ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น
      3) ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
      4) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพบนพื้นฐานของหลักการของความเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ


2. แนวปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานนักลงทุนสัมพันธ์พึงประพฤติปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ ดังนี้
      1) นักลงทุนสัมพันธ์ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน อย่างถูกต้องเพียงพอ และ ทันเวลา
          1.1 เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
          1.2 ใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลต่างๆ อย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยนักลงทุนสัมพันธ์สามารถปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าหรือเป็นข้อมูลที่อาจทำให้บริษัทเสียความสามารถในการแข่งขัน
          1.3 พิจารณาการให้ข้อมูลต่างๆ ให้มีความชัดเจนและมีรายละเอียดเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ เช่น ทำการชี้แจงข้อมูลหรือเหตุผลกรณีผลการดำเนินงานของบริษัทเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 20 และ/หรือให้ข้อมูล MD&A ที่ชัดเจน ทำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไป และอธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขต่างๆ ได้ เป็นต้น
          1.4 ในกรณีที่มีข่าวลือหรือข่าวรั่ว นักลงทุนสัมพันธ์จะรีบดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณะ โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน
          1.5 ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยมีเจตนาที่จะผลักดันให้มีการซื้อหุ้นของบริษัท
          1.6 กำหนดช่องทางการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ใช้ข้อมูลได้รับทราบอย่างเท่าเทียมกัน
      2) นักลงทุนสัมพันธ์ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น
          2.1 ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดูแลข้อมูลภายในของบริษัท โดยนักลงทุนสัมพันธ์ที่ได้รับสิทธิในการเข้าถึง ข้อมูลภายในของบริษัท จะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้บุคคลอื่นทราบจนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว

          2.2 เปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้สาธารณะรับทราบทั่วกันก่อนมีการเปิดเผยให้กับผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
          2.3 ปฏิบัติตามนโยบายในการซื้อขายหุ้นของบริษัทอย่างเคร่งครัด โดยไม่ซื้อ ขายหุ้นในช่วงเวลาที่ห้ามการซื้ิอ ขาย และรายงานการซื้อ ขายหุ้นให้สำนักเลขานุการบริษัทรับทราบ ทุกครั้ง ที่มีการซื้อ ขาย
          2.4 กำหนดช่วงเวลางดรับนัดหรือตอบคำถามเกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตอันใกล้ให้แก่นักวิเคราะห์และ นักลงทุน (Quiet Period) ให้เหมาะสมและใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่เริ่มรับทราบตัวเลขให้มากที่สุด เช่น อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเปิดเผยงบการเงิน เป็นต้น
          2.5 กรณีมีการจัดประชุมนักวิเคราะห์ก่อนประกาศงบการเงิน (Earnings Preview) นักลงทุนสัมพันธ์จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนช่วง Quiet Period และจะระมัดระวังในการให้ข้อมูล โดยจะไม่ให้ข้อมูลใดๆ ที่มีข้อกำหนดห้ามเอาไว้ เช่น ตัวเลขประมาณการรายได้และกำไรของงวดการเงินนั้นๆ เป็นต้น
      3) นักลงทุนสัมพันธ์ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
          3.1 เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมที่จัดให้บุคคลแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันได้ตามความเหมาะสม แต่ข้อมูลที่ให้ต้องไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบหรือเสียโอกาสในการลงทุน
          3.2 เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียติดต่อและสอบถามข้อสงสัยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติที่จะติดต่อแต่เฉพาะบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ
          3.3 เปิดเผยข้อมูลที่นำเสนอในการประชุมเฉพาะกลุ่มให้สาธารณะรับทราบโดยทั่วกันและทันทีที่สามารถทำได้ เช่น ควรนำ Roadshow Presentation และ Analyst Presentation มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น โดยเร็ว เป็นต้น
          3.4 ใช้ความระมัดระวังในการสื่อสารข้อมูลผ่านทางเครือข่ายทางสังคม (Social Network) โดยนักลงทุนสัมพันธ์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้เข้าใจมุมมองของนักลงทุนได้ แต่หากพบประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและจำเป็นต้องชี้แจง นักลงทุนสัมพันธ์จะแจ้งข้อมูลผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
          3.5 ไม่ให้ข้อมูลในเชิงลบหรือให้ร้ายแก่บริษัทคู่แข่ง
          3.6 นักลงทุนสัมพันธ์จะปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ดังนี้
                3.6.1    การปฏิบัติต่อนักลงทุน
                            (ก)     ปฏิบัติต่อนักลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่หรือรายเล็ก และให้โอกาสแก่นักลงทุนรายบุคคลได้เข้าถึงข้อมูลในระดับที่เท่าเทียมกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน
                            (ข)     ไม่เลือกปฏิบัติในการรับนัดประชุม (One-on-One Meeting) กับนักลงทุนสถาบันหรือกลุ่มนักลงทุน ทั้งนี้ นักลงทุนสัมพันธ์จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับนัดที่ชัดเจนและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
                            (ค)     ในการจัดกิจกรรมให้แก่นักลงทุน เช่น การเยี่ยมชมกิจการและการพบปะนักลงทุน นักลงทุนสัมพันธ์จะดำเนินการโดยพิจารณาถึงประโยชน์ของบริษัทและความคุ้มค่าของทรัพยากรที่จะใช้เป็นที่ตั้ง

                3.6.2    การปฏิบัติต่อนักวิเคราะห์
                            (ก)     ในการจัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) นักลงทุนสัมพันธ์จะเชิญและเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์จากทุกบริษัทหลักทรัพย์ได้เข้าร่วมอย่างเท่าเทียมกัน
                            (ข)     ไม่ควรให้สิ่งของตอบแทนหรือของขวัญแก่นักวิเคราะห์ เพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวให้เขียนบทวิเคราะห์ให้แก่บริษัทในเชิงบวกเท่านั้น
                            (ค)     เคารพในผลงานและความเห็นของนักวิเคราะห์ แต่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้ หากเห็นว่ามีการใช้หรือให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
                3.6.3    การปฏิบัติต่อสื่อมวลชน
                            (ก)     ให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลตามความเหมาะสม
                            (ข)     ไม่ใช้เงื่อนไขในการทำธุรกิจกับสื่อมวลชน เช่น การลงโฆษณาในสื่อ เพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหรือให้ความเห็นในเชิงบวกแก่บริษัท
                            (ค)     ไม่ให้สิ่งของตอบแทนหรือของขวัญแก่สื่อมวลชนเพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวให้สื่อมวลชนเขียนบทความหรือข่าวให้แก่บริษัทในเชิงสร้างข่าวที่ไม่เป็นจริง
                3.6.4    การปฏิบัติต่อหน่วยงานทางการ

                            (ก)     ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานทางการตามที่ถูกร้องขอ
                            (ข)     ไม่ให้ของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทางการเพื่อให้ความช่วยเหลือใดๆ เป็นกรณีพิเศษ
                3.6.5    การปฏิบัติต่อบุคคลภายในองค์กร
                            (ก)     ประสานงานให้ผู้บริหารของบริษัทได้พบปะกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตามโอกาสที่สมควร
                            (ข)     รายงานให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารได้รับทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท เช่น ผลการดำเนินกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ ความเห็นจากนักวิเคราะห์และนักลงทุน และข้อมูลความเคลื่อนไหวในตลาดทุน เป็นต้น
                            (ค)     เป็นสื่อกลางของบริษัท ในการสื่อสารให้พนักงานในบริษัทได้รับทราบถึงจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับนักลงทุนสัมพันธ์
                3.6.6    การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เช่น สถาบันการเงินและบริษัท Credit Rating
                                      นักลงทุนสัมพันธ์ต้องให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในระดับที่เท่าเทียมกัน เว้นแต่มีความจำเป็นอื่นใดในการดำเนินธุรกิจ เช่น ต้องให้ข้อมูลภายในประกอบการขอสินเชื่อโครงการจากสถาบันการเงินในกรณีนี้ นักลงทุนสัมพันธ์ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและต้องขอให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลภายในลงนามในสัญญารักษาความลับไว้ด้วย


4) นักลงทุนสัมพันธ์ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ บนพื้นฐานของหลักการของความเท่า เทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
    4.1 หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท เช่น การใช้ทรัพย์สินหรือข้อมูลของบริษัท เพื่อประโยชน์ส่วนตน
    4.2 ไม่ควรแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากความสัมพันธ์และข้อมูลที่ได้จากการทำหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท
    4.3 ปฏิบัติตามนโยบายและจรรยาบรรณพนักงานต่างๆ ที่บริษัทได้กำหนดไว้